Everyday Say no to Plastic1

ทำไมไทยถึงต้องรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติก

1 มกราคม 2563 กับการเริ่มต้นงดแจกถุงพลาสติกของร้านสะดวกซื้อ และซุปเปอร์มาเก็ต ผ่านมา 1 ปีกว่าๆ กับโครงการ Everyday Say No To Plastic Bags ที่ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมมือกับห้างสรรพสินค้า ร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ กว่า 90 บริษัท ทั่วประเทศ เพื่อลดขยะต้นทางสู่การอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เรามาดูว่าทำไมไทยถึงต้องลดการใช้ถุงพลาสติกแบบเด็ดขาด

ข้อมูลจากสถาบันพลาสติก พบว่า ในปี 2559 มีปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วในประเทศไทย จำนวน 45,000 ล้านใบ/ปี ในจำนวนนี้กระจายไปสู่ผู้ใช้ 3 กลุ่มหลัก คือ

  1. ตลาดสดเทศบาล และเอกชน/แผงลอย/อื่น ๆ จำนวนร้อยละ 40 หรือประมาณ 18,000 ล้านใบ
  2. ร้านขายของชำ จำนวนร้อยละ 30 หรือ ประมาณ 13,500 ล้านใบ
  3. ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ ประมาณ 16,330 แห่ง จำนวนร้อยละ 30 หรือ ประมาณ13,500 ล้านใบ

จากสถิติการใช้ถุงพลาสติกที่กล่าวมา ในปีๆหนึ่ง เรามีการใช้ถุงพลาสติกเยอะมาก การกำจัดถุงพลาสติกก็เป็นอีกปัญหาด้วยระยะเวลาในการย่อยสลายยาวนานมาก ถ้าใช้วิธีการฝังกลบก็จะทำให้ดินบริเวณนั้นเสีย ไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ ถ้าใช้วิธีการเผา ก็จะทำให้เกิดก๊าซพิษ และยังมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ออกมาในกระบวนการนี้

คาร์บอนไดออกไซด์มีอายุอยู่ในชั้นบรรยากาศได้นานถึง 200 ปี โดยมีแหล่งกำเนิดในธรรมชาติจากการระเบิดของภูเขาไฟและการย่อยสลายของอินทรียวัตถุ ในปัจจุบันนี้ มนุษย์กลายมาเป็นตัวการหลักในการสร้างและปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ จากการเผาไม้เชื้อเพลิงฟอซซิลต่างๆ เช่น ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ  และเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปลดปล่อยมากที่สุดอันดับหนึ่ง ถึงร้อยละ 75

ผลของก๊าซเรือนกระจก ที่สำคัญและมีการรับรู้กันมานานนม คือ ทำให้โลกร้อน  เนื่องจากกลุ่มก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศโลกมีหน้าที่ กักเก็บและดูดกลืนคลื่นความร้อนหรือรังสีอินฟราเรด (Infrared) ที่ส่งผ่านลงมายังพื้นผิวโลกจากดวงอาทิตย์ หากไม่มีจะทำให้โลกหนาวเย็นจนสิ่งมีชีวิตอยู่ไม่ได้ แต่ถ้ามีมากไปก็จะทำให้โลกร้อนขึ้นอย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้

การหักดิบในการงดใช้ถุงพลาสติกของไทยที่ผ่านมาเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการช่วยลดโลกร้อน แม้จะเป็นส่วนเล็กๆ แต่ถ้าทุกคนร่วมมือกัน จะทำให้โลกของเราดีขึ้นได้แน่นอน เพราะฉะนั้น มาใช้ถุงผ้ากันเถอะครับ

A low angle shot of colorful eco-friendly reusable cloth bags hanging on a pole - no plastic concept

ข้อดีของการใช้ถุงผ้า

ด้วยปัญหาการใช้พลาสติกจำนวนมากที่สร้างขึ้นในสภาวะปัจจุบันและที่ผ่านมา จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องหาวิธีแก้ปัญหามลพิษจากพลาสติก การใช้ถุงผ้าหรือกระเป๋าผ้า ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติเป็นทางออกที่สำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาได้

ในการผลิตพลาสติกนั้น ต้องใช้ทรัพยากรที่มีค่าในการผลิต จำพวกปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ แต่ไม่สามารถย่อยสลายลงได้ง่าย ถุงพลาสติกเพียงอย่างเดียวใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 1,000 ปี โดยการแตกตัวเป็นชิ้นเล็กลงอย่างต่อเนื่องจนย่อยสลายไป แม้ในปัจจุบันจะมีพลาสติกทางชีวภาพ ที่เรียกว่า Biodegradable แต่ด้วยปัญหาจากการคัดแยกขยะยังไม่ดีพอ และการย่อยสลายพลาสติกประเภทนี้ต้องใช้การกลบฝังในระยะเวลา 1-12 เดือน (ขึ้นกับชนิดพลาสติกที่ใข้) จึงยังมีข้อจำกัดในการใช้งานอยู่

โชคดีที่เรายังมีอีกหนึ่งในวิธีที่ง่ายและสามารถลดการใช้ถุงพลาสติก ก็คือการใช้ถุงผ้า ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และถ้าจะแจกแจงข้อดีในการใช้ถุงผ้ามีดังนี้

  1. ขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อมน้อยลง ปัจจุบันมีการใช้ถุงพลาสติก 500 พันล้านใบต่อปีทั่วโลก นั่นคือถุงพลาสติก 150 ใบต่อคนต่อปี หากเรานำถุงพลาสติกเหล่านั้นทั้งหมดมาวางต่อกัน มันจะวนรอบโลก 4,200 รอบ แต่ถ้าเราเปลี่ยนมาใช้ถุงผ้า ก็จะลดการใช้พลาสติกส่วนนี้ลงไปได้อย่างมาก
  2. ลดมลภาวะ ถุงผ้าผลิตจากวัสดุธรรมชาติและย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ไม่ปล่อยก๊าซพิษออกมาในกระบวนการย่อย แต่ถุงพลาสติกที่ไม่นำไปฝังกลบหรือโรงงานรีไซเคิลมีความเสี่ยงต่อการย่อยสลายด้วยแสง (การสัมผัสแสงที่ปล่อยอนุภาคโพลีเมอร์ที่เป็นพิษ) ถ้านำไปฝังกลบก็จะเป็นมลพิษต่อดิน ถ้าใช้วิธีการเผาก็จะทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก เป็นผลให้โลกร้อนขึ้น
  3. ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและทรัพยากรธรรมชาติน้อยลง  น้ำมันเป็นส่วนประกอบหลักในการผลิตถุงพลาสติก ยังไม่รวมการขนส่งและการกำจัด การหันมาใช้ถุงผ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะทำให้เรามีส่วนช่วยในการลดการใช้เชื้อเพลิงปิโตรเลียมน้อยลง และส่งเสริมการกระจายทรัพยากรที่ยั่งยืนมากขึ้น
  4. แข็งแรงทนทานและสะดวกสบายมากขึ้น ถุงที่ผลิตจากผ้ามีความแข็งแรงและทนทาน รับน้ำหนักได้มากกว่าถุงพลาสติกทั่วไป นอกจากนี้ยังสะดวกสบายในการพกพามากกว่าอีกด้วย
  5. สนับสนุนและแสดงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใช้ถุงผ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงการใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม โดยการใช้กระเป๋าผ้าที่มีสโลแกนรักษ์โลกอยู่ ก็เป็นการรณรงค์การใช้ถุงผ้าที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ในอีกรูปแบบนึง
  6. ใช้พื้นที่น้อยลง เราทุกคนมีถุงพลาสติกนั้นซ่อนอยู่ในตู้กับข้าวหรือตู้ของเรา ทิ้งถุงพลาสติกพวกนั้นซะแล้วเปลี่ยนเป็นใช้ถุงผ้าที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งเราอาจจะมีจำนวนถุงที่เก็บไว้ในตู้ลดลงได้
  7. รักษ์โลก การย่อยสลายพลาสติกของคุณที่ต้องใช้เวลาถึง 1,000 ปี ให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ดังนั้นจงเปลี่ยนนิสัย ถุงผ้าทำจากวัสดุธรรมชาติสามารถย่อยสลายทางชีวภาพได้ การใช้ถุงผ้าไม่เพียงแต่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยังมีผลดีต่อโลกของเราอีกด้วย
  8. สบายใจ ความสบายใจกับการได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดมลภาวะจากพลาสติก หากคนเพียงคนเดียวเปลี่ยนไปใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก พวกเขาจะช่วยประหยัดถุงพลาสติกได้ถึง 22,000 ใบในช่วงชีวิตหนึ่งเลยทีเดียว

ข้อดีของการใช้ถุงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นั้นไม่มีที่สิ้นสุด ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในการเปลี่ยนแปลงนั้นคือ การเปลี่ยนมาใช้ถุงผ้ากันอย่างจริงจัง!

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

7 ชนิด ของผ้า ที่นิยมทำกระเป๋าลดโลกร้อน

ในยุคที่ร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-11 รวมไปถึงห้างสรรพสินค้าต่างๆ ในประเทศไทยหันมาหยุดการใช้ถุงพลาสติกกันอย่างจริงจัง ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าถุงผ้าหรือกระเป๋าผ้าเข้ามามีบทบาทชัดเจน ทุกคนเมื่อต้องการจะไปจับจ่าย ใช้สอยต้องพกหรือมีถุงผ้าหรือกระเป๋าผ้าติดไปด้วย วันนี้ inkbag จะพาไปดูกันว่า ผ้าที่นิยมใช้ในการทำถุงผ้าหรือกระเป๋าผ้ามีอะไรบ้าง

ผ้าแคนวาส (Canvas) – จัดเป็นประเภทหนึ่งของผ้าฝ้าย จะมีความหนาให้เลือก เรียกหน่วยความหนาของผ้าชนิดนี้เป็น ออนซ์ (Oz) เนื้อผ้าจะมีการทอเหมือนกับผ้ากระสอบ แต่ความถี่ของการทอนั้นมีมากกว่าทำให้มีความแข็งแรงมากกว่าผ้ากระสอบ มีคุณสมบัติแบบผ้าฝ้าย คือ ระบายอากาศและความร้อนได้ดี ซักทำความสะอาดได้ง่าย และทนความร้อนได้ดี ทำให้รีดด้วยความร้อนสูงได้ แต่ก็มีข้อเสีย คือ ยับง่าย ไม่มีความยืดหยุ่น และมีการหดเมื่อนำไปซัก

ผ้าดิบ (Calico) – เป็นผ้าที่ไม่ผ่านกระบวนการฟอกใดๆเลย หลังจากการทอ ผ้าจึงจะมีสีขาวอมเหลืองนิดๆ เนื้อผ้าจะแข็ง ไม่ลื่นมัน ให้ความรู้สึกดิบๆ แบบธรรมชาติ ตามชื่อที่ใช้เรียก โดยมีลายทอได้หลายรูปแบบ เช่น ทอแบบ 1:1 , ลายสอง หรือทอแบบผ้าแคนวาส ถ้าไม่ผ่านกระบวนการฟอกย้อมใดๆ ก็นับเป็นผ้าดิบ ด้วยเช่นกัน ผ้าดิบมีทั้งที่เป็นผ้าฝ้าย และ ผ้าใยสังเคราะห์ ด้วยรูปลักษณ์ที่ดูธรรมชาตินี่เอง ทำให้เป็นผ้าที่ได้รับความนิยมในการนำมาทำถุงผ้ามากๆ

ผ้าปอ (Jute Fabric) – หรือผ้ากระสอบ เป็นสิ่งทอที่ผลิตจากใยของต้นปอ โดยส่วนมากที่นำมาใช้ในกระบวนการทอเป็นปอสายพันธุ์ ปอกระเจาหรือต้นปอกระเจา

เส้นใยปอกระเจา มีคุณสมบัติ คือ ความทนทานสูง และมีความเหนียวระดับหนึ่ง ระบายอากาศได้ดี และดูดซับน้ำได้ดี แห้งเร็วและทนทานต่อการขัดถู ด้วยความทนทานของเส้นใยปอกระเจา ส่วนมากจึงเหมาะกับนำมาใช้ในอุตสาหกรรม นำมาทอเป็นผ้ากระสอบเพื่อบรรจุสินค้าหนักๆได้

ปัจจุบันได้มีการนำผ้ากระสอบมาใช้ได้หลากหลายงาน เช่น กระเป๋าผ้า อุปกรณ์ตกแต่งภายในบ้าน หรืองานดีไซน์อื่น ภาพลักษณ์ที่ดูดิบและรักษ์โลกรวมไปถึงคุณสมบัติข้างต้นที่กล่าวมา ทั้งความทนทาน ความเหนียว ทำให้ผ้ากระสอบที่ผลิตจากเส้นใยปอกระเจา เป็นอีกวัสดุนึงที่นิยมใช้ในการผลิตกระเป๋าผ้า

ผ้าสปันบอนด์ (Spunbond)  – หรือเรียกว่า ผ้านอนวูเว่น (Non-woven) เป็นผ้าใยสังเคราะห์ที่ไม่ผ่านการถักหรือการทอ ผลิตจาก Polypropylene ผ่านกระบวนการฉีดเส้นใยต่อเนื่องที่กำลังร้อนสานไปมาบนสายพาน เรียกว่า “Continuous Filament” และถูกลำเลียงมารวมกันแล้วพิมพ์ขึ้นรูปจนกระทั่งมีรูปแบบเหมือนผ้า เนื้อผ้ามีความคล้ายคลึงกับกระดาษ แต่มีความทนทานและเหนียวต่อแรงดึงและแรงฉีกดีกว่า สปันบอนด์มีหลากหลายสี ความหนาจะเรียกเป็นแกรม (gram) สามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมของงาน

คุณสมบัติของสปันบอนด์ คือ มีความเหนียวและทนต่อแรงฉีกได้ดี ไม่สร้างมลภาวะเป็นพิษ ไม่มีผลเสียต่อสภาพแวดล้อม นิยมนำไปรีไซเคิล และสามารถย่อยสลายได้ปานกลางโดยใช้ระยะเวลาที่ 5 – 10 ปี น้ำหนักเบามาก แต่สามารถรับน้ำหนักได้ดีพอสมควร คุณสมบัติไม่ดูดซับน้ำ และไม่มีสารพิษตกค้างอยู่ รวมทั้งปลอดเชื้อแบ็คทีเรีย เชื้อราไม่สามารถเติบโตได้ในสปันบอนด์ เป็นฉนวนไฟฟ้า ผ้าสปันบอนด์ยังใช้เป็นวัสดุที่ใช้ในวงการแพทย์อีกด้วย เนื่องจากปลอดภัยจากเชื้อรา และแบคทีเรีย

ผ้าร่ม – เป็นวัสดุที่มีความแตกต่างจากผ้าชนิดอื่นๆ ผ้าชนิดนี้จะได้มาจากการทอด้วยเส้นด้ายไนล่อน หรือเส้นด้ายโพลีเอสเตอร์นำมาทอขึ้นมา จึงเป็นผ้าที่มีลักษณะหนาเป็นพิเศษ และแข็งแรง เป็นผ้าที่สามารถป้องกันน้ำ และป้องกันแสงแดดได้ดี ชนิดและลักษณะของผ้าร่ม มีดังนี้

1 ผ้าร่มไนลอน หรือ ผ้าใยพอลิเอไมด์ มีคุณสมบัติอ่อนนุ่ม

2 ผ้าคูนิล่อน รู้จักกันในชื่อผ้าร่มหนังเทียม มีคุณสมบัติทนทานสูง สามารถทนทานต่อแสงแดดและลมแรงได้สูง

3 ผ้าร่มโพลีเอสเตอร์ มีคุณสมบัติสามารถทนทานต่อแสงแดดได้ดี และมีความทนทานสูงไม่เกิดรอยยับได้ง่าย แถมยังมีน้ำหนักเบากว่าผ้าคูนิล่อน

4 ผ้าร่มนาโน มีคุณสมบัติป้องกันแแสงแดดได้ดี สามารถป้องกันเชื้อราได้อีกด้วย

ในการทำกระเป๋าผ้า ผ้าร่มจะถูกนำมาใช้ก็ต่อเมื่อต้องการกระเป๋าผ้าที่มีคุณสมบัติที่กันน้ำ ถ้าต้องการความสวยงาม สามารถพิมพ์ สกรีนลายต่างๆ ได้ ทำให้กระเป๋าผ้าของคุณดูเก๋ ไม่ซ้ำใคร

600 D – เป็นเนื้อผ้าที่ผลิตจาก ใยโพลีเอสเสตอร์ ( Polyester) ซึ่งเป็นเส้นใยสังเคราะห์ 100 % เราจะพบเห็นผ้า 600 D จากรูปแบบกระเป๋าผ้าเช่น เป็นวัสดุ ผลิตกระเป๋าเป้ กระเป๋าผ้าสะพายหลัง อย่างกระเป๋านักเรียน โดยโรงเรียนมักเลือกผ้าชนิดนี้มาใช้เพราะสามารถรับน้ำหนักได้ดี มีสีให้เลือกจำนวนมาก อีกทั้งการใช้ผ้า 600D ทำกระเป๋าผ้าแทนผ้าดิบหรือผ้าร่มเพราะว่า เนื้อผ้า 600 D มีเนื้อผ้าที่แน่นและทำให้กระเป๋าอยู่ทรงกว่า

โดยพื้นฐานของคุณสมบัติทางด้านกายภาพของเส้นใยโพลีเอสเตอร์ที่ ถักทอเป็นผ้า600D มีดังนี้

รูปร่าง ผิวเรียบเสมอกันมีความเหนียว เมื่อตัวผ้าเปียกน้ำ ความเหนียวจะลดลง มีความยืดหยุ่นดี คงขนาดได้ง่าย การดูดความชื้นต่ำ การทนความร้อนได้ดี เนื้อผ้าประเภทนี้ จะหลอมละลายที่อุณหภูมิ 230 – 290 องศา เซลเซียส โดยความร้อน จะไม่ทำให้สีของใยผ้าจางลง จะไม่ยืด ไม่หด และไม่ยับง่าย

ผ้าคอมทวิว(Combed Twill) – หรือ ผ้าซุปเปอร์คอมทวิว เป็นผ้าที่มีลักษณะเนื้อจะหนาแบบกลางๆ สามารถนำมาใช้ตัดได้ทั้งเสื้อและกางเกง ส่วนประกอบของผ้าชนิดนี้มาจากการผสมผสานของเส้นใยธรรมชาติและใยสังเคราะห์ ขนาดของเส้นด้ายจะใช้ขนาดเล็ก นั่นทำให้เนื้อผ้าละเอียด กรรมวิธีของผ้าชนิดนี้ยังใช้การเผาขนก่อนทอนั่นทำให้เนื้อผ้ามีความเงางามมากกว่าปกติ ด้วยความที่เส้นใยค่อนข้างสวยงามไม่เหมือนผ้าประเภทอื่นๆ ลายผ้าจึงค่อนข้างมีความสวยงามและค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์ ทำให้ผ้าประเภทนี้เริ่มเป็นที่นิยมนำมาทำเป็นถุงผ้า  แต่ปัญหาของผ้าประเภทนี้ก็ยังคงมีอยู่ คือเวลาซักห้ามแปรงเด็ดขาด และหากซักบ่อยๆ จะทำให้สีซีดเร็ว

ถุงผ้าหรือกระเป๋าผ้าที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้หลายประเภทมีคุณค่าที่แตกต่าง ท้ายที่สุดแล้วกระเป๋าที่นำกลับมาใช้ใหม่ไม่ว่าจะผลิตจากวัสดุใดได้ก็ช่วยทำให้ลดการใช้ถุงพลาสติกได้จำนวนมากเช่นกัน วัสดุทั้งหมดที่แยกย่อยมาด้านบนสามารถนำมาใช้ทำกระเป๋าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างดีเยี่ยม แต่วัสดุแต่ละชนิดจะมีประสิทธิภาพแตกต่างกันไปภายใต้สถานการณ์ที่แตกต่างกัน เมื่อคุณพบวัสดุที่เหมาะสำหรับสินค้าหรืองานของคุณได้แล้วนั้น จะสามารถช่วยให้คุณออกแบบผลิตภัณฑ์และส่งเสริมการขายที่เหมาะสำหรับแบรนด์ของคุณได้